Wednesday, December 24, 2008

บทที่ 1
สภาพแวดล้อมของเด็กปฐมวัย


สถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็ก ที่ทำการสอนอบรมและเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยโดยคำนึงถึงหลักพัฒนาการของเด็กทั้งสี่ด้าน เด็กปฐมวัยจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในสถานศึกษาโดยเฉพาะเวลากลางวัน โดยมีครู พี่เลี้ยง และผู้เกี่ยวข้องทำหน้าที่แทนพ่อแม่ของเด็กในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ดังนั้น สภาพแวดล้อมของสถานศึกษาเด็กปฐมวัย จึงควร เป็นสถานที่เด็กใช้เรียนรู้ กิน เล่น พักผ่อน ให้ความอบอุ่นสะดวกสบายแก่เด็ก

ความหมายของสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัย

สภาพแวดล้อม ตามความหมายทั่วไปตามพจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 หมายความถึง “ธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่” ความหมายที่จะกล่าวถึงธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน ธรรมชาติที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต หรือทรัพยากรธรรมชาติก็ได้
บุญเสริม พูลสงวน (2530 : 5) ได้ให้ความหมายของคำว่า “ สิ่งแวดล้อม” ไว้ว่า“สิ่งใดก็ตามไม่ว่าจะเกิดขึ้นได้เองในธรรมชาติหรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์แล้วมีผลเกี่ยวข้องกับตัวเรา ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งแวดล้อม” บุญเสริม พูลสงวน ได้จัดสิ่งแวดล้อมออกเป็น 2 พวก คือ เกิดขึ้นตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
บุญเยี่ยม จิตรดอน,2539: 332) ได้ให้ความหมายของคำว่า สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เด็กสามารถเลือกหาประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและตามความต้องการของเด็ก เด็กจะได้เจริญเติบโตเต็มที่ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดและแก้ปัญหาได้ด้วนตนเอง ครูปฐมวัยจะต้องเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่น่าสนใจไว้หลายอย่าง อาจวางไว้ในที่ซึ่งเด็กสามารถจะเลือกหยิบออกมาเล่น ศึกษาค้นคว้าหาประสบการณ์ได้เต็มที่
เกษม จันทร์แก้ว (2526 : 1-2) ได้ให้ความหมายของสิ่งแวดล้อมว่า สิ่งต่างๆที่เป็นสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เห็นได้ด้วยตาเปล่าและไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่า รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและมนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น อีกทั้งอาจเป็นรูปธรรมและนานธรรม หรืออาจกล่าวได้ว่า สิ่งแวดล้อม คือ สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา
เบญจา แสงมลิ (2531 : 228) ได้ให้ความหมายของคำว่าสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาด้วยว่า “สถานศึกษาเด็กปฐมวัยเป็นสถานที่ที่จัดให้เด็กปฐมวัยอยู่รวมกัน และทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นสุข สะดวก สนุก สบายและปลอดภัย สภาพแวดล้อมจะมีทั้งสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน และสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน”
จากความหมายข้างต้นที่กล่าวมา สามารถสรุปความหมายการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยได้ว่าหมายถึง การจัดสภาพต่าง ๆ ในสถานศึกษาทั้งภายในห้องเรียน ภายนอกห้องเรียน ช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้รับประสบการณ์จากการอยู่รวมกันทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นสุข สะดวก สนุก สบายและปลอดภัย ตลอดจนส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี
แนวคิดพื้นฐานในการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัย
การจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัย มีความสำคัญต่อเด็กเนื่องจากธรรมชาติของเด็กในวัยนี้สนใจที่จะเรียนรู้ ค้นคว้า ทดลอง และต้องการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว ดังนั้น การจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมตามความต้องการของเด็ก จึงมีความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและการเรียนรู้ของเด็ก เด็กสามารถเรียนรู้จากการเล่นที่เป็น ประสบการณ์ตรงที่เกิดจากการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า จึงจำเป็นต้องจัดสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของหลักสูตร เพื่อส่งผลให้บรรลุจุดหมายในการพัฒนาเด็ก
1. แนวความคิดเกี่ยวกับการจัดศึกษากับการจัดสภาพแวดล้อม การจัดการศึกษาปฐมวัยได้ยึดแนวคิดของผู้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเด็กกับการศึกษาระดับปฐมวัยหลายท่าน
รุสโซ ได้กล่าวถึงกิจกรรมด้านร่างกายมีความสำคัญมากในช่วง 5 ปีแรกของชีวิตเด็ก เด็กจะเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ซึ่งประสบการณ์ตรงถือว่าเป็นสภาพแวดล้อม นอกจากนั้นรุสโซยังเห็นคุณค่าของการเล่นที่มีต่อเด็กด้วย
ดิวอี้ เชื่อว่าเด็กจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อสภาพการเรียนการสอนเป็นสภาพที่อยู่ในชีวิตจริงของเด็ก โดยเน้นถึงเสรีภาพในการคิด การแสดงออก และการให้การศึกษาแก่เด็กที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
เปสตาลอสซี่ เชื่อว่าเด้กแต่ละคนแตกต่างกันทั้งด้านความสนใจและอัตราการเรียนรู้ เด็กจะเรียนรู้และเข้าใจเมื่อเด็กมีความพร้อม และประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม
มอนเตสเซอรี่ มีความคิดแตกต่างจากเฟรอเบล บ้างเล็กน้อย มอนเตสเซอรี่มีแนวความคิดว่าการจัดกิจกรรมหรือการจัดประสบการณ์ให้เด็กควรให้เสรีภาพในการแสวงหา
ความรู้ และเป็นไปด้วยความสมัครใจ และควรคิดถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล สภาพแวดล้อมที่จัดให้เด็กคำนึงถึงความต้องการและความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก
เพียเจต์ มีแนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กว่าพัฒนาการแต่ละขั้นจะมีลักษณะบ่งชี้ถึงความปกติของพัฒนาการแต่ละขั้นนั้นๆ เด็กแต่ละคนจะมีลักษณะเฉพาะแต่ละด้าน วิธีการเรียนรู้แตกต่างกัน และวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ การเรียนรู้ที่เกิดจากการเล่นและสิ่งที่เป็นรูปธรรมสภาพแวดล้อมที่จัดในสถานศึกษาจึงต้องมีหลากหลาย
จากแนวความคิดของนักการศึกษาที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าการจัดการศึกษาปฐมวัยเป็นการจัดสภาพแวดล้อมให้แก่เด็กและการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยต้องยึดหลักการและแนวความคิดของนักการศึกษา กล่าวคือ การจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยต้องยึดหลักเด็กเป็นศูนย์กลาง ให้เด็กได้มีเครื่องเล่น ใช้การเล่นเป็นสื่อในการเรียนรู้ของเด็ก สภาพแวดล้อมที่จัดควรเป็นสภาพแวดล้อมที่ให้ประสบการณ์ตรง และให้เสรีภาพในการแสวงหาความรู้ตามความสามารถและความแตกต่างของแต่ละบุคคล
2. แนวความคิดเกี่ยวกับพัฒนาการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดสภาพแวดล้อม
พัฒนาการเริ่มต้นตั้งแต่การปฏิสนธิต่อเนื่องไปตลอดชีวิต พัฒนาการของคนแต่ละด้านเป็นไปตามลำดับขั้นตอน โดยขั้นตอนที่ได้พัฒนาไปแล้วจะเป็นพื้นฐานของขั้นตอนที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น พัฒนาการแต่ละด้านของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกของชีวิตนั้น แม้จะมีลักษณะร่วมกันหลายประการ แต่ในพัฒนาการแต่ละด้านมีทฤษฎีเฉพาะอธิบายได้ แนวในการจัดสภาพแวดล้อม ในสถานศึกษาปฐมวัยต้องพิจารณาถึงทฤษฎีพัฒนาการเด็กด้วยจึงต้องจัดจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมแก่เด็กปฐมวัย
2.1 ทฤษฎีพัฒนาการทางกาย กีเซล (Gesell) อธิบายถึงพัฒนาทางกายที่มีรูปแบบที่แน่นอนและเป็นไปตามลำดับขั้น สภาพแวดล้อมมีส่วนช่วยส่งเสริมและต่อเติมพัฒนาการของเด็ก กีเซลเน้นถึงการเติบโตและลักษณะพัฒนาการของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน ถึงแม้แบบแผนและขั้นตอนพัฒนาการจะเหมือนกัน พัฒนาการของเด็กเป็นกระบวนการที่ประสานสัมพันธ์กันทุกด้าน ทั้ง ร่างกาย จิตใจ ดังนั้น การพัฒนาของเด็กจึงต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กันทุกด้าน ทฤษฎีพัฒนาการทางกายของ กีเซลมีส่วนในการจัดสภาพแวดล้อมและการจัดกิจกรรมให้แก่เด็กในปัจจุบัน เพราะในสถานศึกษาปฐมวัยจะจัดสภาพแวดล้อมและกิจกรรมให้แก่เด็กโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาเด็กให้ครบทุกด้าน
2.2 ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา เพียเจต์ (Piaget) เชื่อว่าพัฒนาการทางด้านสติปัญญาของเด็กเกิดจากการที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมซึ่งมนุษย์จะซึมซับประสบการณ์และมีการปรับตัวและปรับโครงสร้างทางสติปัญญาเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง
ซึ่งโครงสร้าง ของสติปัญญาในอินทรีย์ต้องมีการปรับโครงสร้างให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกับ บรูเนอร์ (Bruner) ได้แสดงความคิดเห็นตรงกับเพียเจต์ว่า การเรียนรู้ของเด็กเกิดจากกระบวนการภายในอินทรีย์ การเรียนรู้จะพัฒนาได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับประสบการณ์และสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก จากทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของทั้งสองท่าน การจัดสภาพแวดล้อมสำหรับเด็กปฐมวัยจึงต้องคำนึงถึงหลักการเรียนรู้ว่า การจัดสภาพแวดล้อมต้องจัดให้เด็กได้กระทำ สัมผัสด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้เด็กคิดจินตนาการ เกิดการเรียนรู้ และเริ่มเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่สัมพันธ์กันจนเกิดเป็นความคิดรวบยอดของสิ่งนั้น ๆ ที่เด็กได้พบเห็น
2.3 ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตใจและอารมณ์ ทฤษฎีนี้ ออสูเบล (Ausubel) เห็นว่าเด็กมีอารมณ์ 2 ประเภท คือ อารมณ์ดีและอารมณ์ไม่ดี อารมณ์ของเด็กทั้งสองประเภทเกิดได้จากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กซึ่งการพัฒนาด้านนี้จะมีผลต่อเนื่องไปถึงบุคลิกภาพของเด็ก
2.4 ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรม สังคมและบุคลิกภาพ ทฤษฎีพัฒนาการจริยธรรม สังคม และบุคลิกภาพ มีบุคคลที่ให้แนวทางเกี่ยวกับทฤษฎีเหล่านี้คือ ฟรอยด์ (Freud) อิริคสัน (Erikson) และดิวอี้ (Dewey) ทั้งสามท่านกล่าวถึงการจัดสภาพแวดล้อมมีบทบาทในการพัฒนาเด็กเป็นอย่างมาก เด็กจะเรียนรู้สภาพแวดล้อมการกระทำของเด็กเอง การเรียนรู้และประสบการณ์ที่เด็กได้จากสภาพแวดล้อมจะมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างมาก เพราะเด็กกำลังอยู่ในวัยที่รับรู้มีการเรียนแบบ ดังนั้นสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จะมีผลต่อการพัฒนาทางจริยธรรม สังคม และบุคลิก-ภาพของเด็กเป็นอย่างมาก
3. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อม จากการกำหนดนิยามของนักจิตวิทยาว่า “การเรียนรู้” หมายถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเป็นผลเนื่องจากการได้รับประสบการณ์หรือการฝึกฝน พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ควรเป็นไปในลักษณะที่ค่อนข้างถาวร และจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมก็ได้
จากความหมายนี้ข้อความที่ระบุว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเป็นผลจากการได้รับประสบการณ์ประสบการณ์ในที่นี้ได้จากสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กที่เกิดตามธรรมชาติหรือตามสภาพที่ถูกจัดขึ้น แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่นักจิตวิทยาได้สรุปไว้มี 4 กลุ่มสำคัญ คือ กลุ่มปัญญานิยม กลุ่มมนุษย์นิยม กลุ่มพฤติกรรมนิยม และกลุ่มผสมผสานกลุ่มนักจิตวิทยา ทั้งสี่กลุ่มมีความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้แตกต่างกันในแต่ละแนวคิดซึ่งในที่นี้แนวคิดของกลุ่มปัญญานิยม และพฤติกรรมนิยมมีบทบาทเกี่ยวกับการเรียนรู้และการจัดสภาพแวดล้อมมากที่สุด ซึ่งจะอธิบายสั้น ๆ ดังนี้
กลุ่มปัญญานิยม ซึ่งนักจิตวิทยาที่สำคัญ คือ บรูเนอร์ (Bruner) และออสูเบล (Ausubel) ซึ่งเชื่อกันว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคลและจะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาที่บุคคลได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในการจัดกิจกรรมการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกให้มากที่สุด และครูควรจัดสภาพการณ์ต่าง ๆ เพื่อเอื้อให้เด็กได้ค้นพบคำตอบด้วยตนเอง
กลุ่มพฤติกรรมนิยม นักจิตวิทยาที่สำคัญของกลุ่มพฤติกรรมนิยมคือวัตสัน (J. B. Watson) ธอร์นไดค์ (Thorndike) และสกินเนอร์ (B.F. skinner) นักจิตวิยาเหล่านี้มีความเชื่อว่า การเรียนรู้ของมนุษย์นั้นเกิดจากการได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
จะเห็นได้ว่ากลุ่มนักจิตวิทยาปัญญานิยมและกลุ่มพฤติกรรมนิยม เน้นการเรียนรู้ของเด็กกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สถานศึกษาปฐมวัยจึงควรพิจารณาจัดสถานศึกษาที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้แก่เด็กโดยจัดสภาพแวดล้อมที่จูงใจเด็กและบุคคลให้มาสถานศึกษา
4. แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างจิตสำนึกที่มีต่อการจัดสภาพแวดล้อม จิตสำนึกในเรื่องสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องปลูกฝังให้แก่เด็กปฐมวัย การที่จะสร้างจิตสำนึกให้แก่เด็กได้ ครูควรต้องเข้าใจในเรื่องที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ ความหมายของจิตสำนึก และการสร้างจิตสำนึกของเด็กปฐมวัยที่มีต่อการจัดสภาพแวดล้อม
4.1.1 ความหมายของจิตสำนึก คำว่า “จิตสำนึก” หมายถึง ภาวะที่จิตตื่นและรู้ตัวสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 (พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530) จิตสำนึกที่มีต่อการจัดสภาพแวดล้อมจึงพอสรุปความหมายสั้น ๆ ได้ว่าเป็นภาวะจิตสำนึกที่สามารถตอบสนองต่อการจัดสภาพแวดล้อมทั้งประสาทสัมผัสทั้ง 5
4.1.2 การสร้างจิตสำนึกของเด็กปฐมวัยที่มีต่อการจัดสภาพแวดล้อม จิตสำนึกของเด็กปฐมวัยที่มีต่อการจัดสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ และครูผู้เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยในสถานศึกษา ควรปลูกฝังและสร้างความรู้สึกและภาวะจิตที่ดีต่อการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาให้แก่เด็ก เช่น วิธีการดูแลรักษาสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ การถนอม การใช้ และ การจัดสภาพแวดล้อมให้สวยงามเป็นระเบียบ ไม่เป็นผู้ทำลาย และดูแลรักษาไม่ให้ถูกทำลาย การสร้างจิตสำนึกของเด็กต้องอาศัยระยะเวลา ความสม่ำเสมอ และมีต้นแบบที่ดี ในการสร้างจิตสำนึกมีขั้นตอนที่สำคัญ 3 ขั้นตอน ดังนี้
1) ขั้นสร้างความตระหนัก ขั้นนี้ครูต้องทำให้เด็กมองสิ่งรอบ ๆ ตัวและตัวเด็กเองว่า สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาและตัวเด็กเองมีความสำคัญ เช่น ถ้าเด็กเห็นว่าห้องเรียนสกปรกจะทำให้ตัวเด็กสุขภาพไม่ดี ไม่สบายตาหรือสบายใจแต่ถ้าห้องเรียนสะอาด เขาจะมีความสบายตาสบายใจและมีผลทำให้เขามีสุขภาพดี
2) ขั้นให้ความรู้ ขั้นนี้ครูควรให้พื้นฐานเกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบที่เขามีต่อสภาพ- แวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัย แนวทางในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ซึ่งขั้นนี้ครูควรให้เด็กเรียนรู้จากสภาพความเป็นจริงซึ่งอยู่รอบตัวเด็ก
3) ขั้นสร้างเสริมเจตคติ การสร้างเสริมเจตคติสามารถทำได้โดยการสร้างค่านิยมในการใช้อุปกรณ์ เครื่องเล่นในสถานศึกษาอย่างประหยัด สร้างนิสัยให้เด็กเกิดความรู้สึกรับผิดชอบ รู้ผิดชอบชั่วดี โดยการให้เด็กเห็นตัวแบบที่ดีและฝึกปฏิบัติจริง เพื่อสร้างจิตสำนึกให้แก่เด็กควรทำหลาย ๆ วิธี และทำอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการย้ำและปลูกฝัง ทั้งนี้การปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้แก่เด็กต้องคำนึงถึงวุฒิภาวะ ความสนใจและความต้องการของเด็กปฐมวัยด้วย
จากความหมายของสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาและแนวคิดพื้นฐานในการจัดสภาพแวดล้อมพอสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ว่า ในการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้และส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กครบทุกด้าน สภาพแวดล้อมควรเป็นสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นเด็ก จูงใจเด็ก และการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาที่จะส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กครบทุกด้านนั้น นักการศึกษา นักจิตวิทยาที่สำคัญหลายท่านเน้นความสำคัญของการเรียนรู้ว่าเด็กจะเกิดการเรียนรู้และพัฒนาได้นั้น สภาพแวดล้อมในสถานศึกษาที่จัดให้เด็กต้องยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง สภาพแวดล้อมที่จัดให้ประสบการณ์ตรงและจึงใจเด็กให้เด็กอยากเรียนรู้ เมื่อเด็กอยากเรียนรู้ เด็กจะอยากมาสถานศึกษา นอกจากนั้นสิ่งที่สถานศึกษาขาดไม่ได้คือการจัดประสบการณ์ต่าง ๆ ให้เด็กเกิดความรู้สึกที่จะช่วยจัดสภาพแวดล้อม ดูแลสภาพแวดล้อมให้เป็นระเบียบสวยงาม ถนอมดูแลและใช้สื่อ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องเล่นอย่างถูกวิธี และไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ตลอดจนดูแลรักษาไม่ให้ถูกทำลาย

ความสำคัญในการจัดของสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัย

ช่วงชีวิตในวัยปฐมวัย เป็นช่วงชีวิตที่มีความสำคัญมาก เด็กจะพัฒนาและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้มากที่สุดในช่วงนี้ โดยเฉพาะเมื่อเด็กเข้ามาในสถานศึกษา เด็กจะได้รับการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา จากการปฏิบัติกิจกรรมซึ่งครูเป็นผู้จัดให้ นอกจากกิจกรรมและประสบการณ์แล้วอีกสิ่งหนึ่งซึ่งครูและสถานศึกษาเป็นผู้จัดให้แก่เด็ก คือ สภาพแวดล้อม การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีคุณค่า ทำให้เด็กได้ประสบการณ์ตรงเกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับ ผู้อื่น จากสภาพแวดล้อมทางภายในและภายนอกห้องเรียนเด็กสามารถ
ค้นคว้า ทดลอง สังเกต หาเหตุผลและขยายประสบการณ์ให้เด็กได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้เป็นแนวทางในการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัยส่วนหนึ่ง
การที่เด็กปฐมวัยจะเจริญเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีในสังคมประเทศชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการ อบรมเลี้ยงดูที่เด็กได้รับในวัยปฐมวัย การจัดสภาพแวดล้อมมีผลต่อการสร้างเสริมพัฒนาการเด็กอย่างมาก เริ่มต้นตั้งแต่สภาพแวดล้อมทางบ้านซึ่งมีพ่อแม่ ญาติ และผู้ใกล้ชิด คอยดูแล ลำดับต่อมาเป็นสภาพแวดล้อมนอกบ้าน สภาพแวดล้อมนอกบ้านที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อเด็กปฐมวัยมาก คือ สภาพแวดล้อมในสถานศึกษา
ความสำคัญของการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเด็ก ครูและบุคลากรอื่น ๆ เป็นอย่างมาก ดังนั้น สถานศึกษาจำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องต่อความต้องการของเด็กและบุคลากรตามที่เน้นให้เห็นความสำคัญข้างต้น


วัตถุประสงค์ในการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัย

สถานศึกษาปฐมวัยเป็นสถานที่จัดสภาพแวดล้อมให้แก่เด็ก เล่น กิน นอนและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีความปลอดภัย และเกิดการเรียนรู้ การจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัย ได้มีนักการศึกษาได้ให้ข้อคิดไว้หลายท่านดังต่อไปนี้ เบญจา แสงมลิ (2531) ได้แสดงให้เห็นวัตถุประสงค์ของการจัดสภาพแวดล้อมดังนี้
1. สร้างเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และ
สติปัญญา
2. อำนวยความสะดวกให้แก่เด็กปฐมวัย ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
3. สร้างความสวยงาม มีระเบียบ ดึงดูดความสนใจของเด็กปฐมวัยและผู้ปกครอง
4. สนองจุดมุ่งหมายของการศึกษาระดับปฐมวัย
หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา (2523) ได้กล่าวถึงจุดประสงค์สร้างความอบอุ่นมั่นใจ สนใจมาโรงเรียนและอยากมาโรงเรียน
สำหรับในเรื่องนี้สามารถสรุปได้ว่าจุดประสงค์ของการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยจัดไว้มี 6 ประการ ดังนี้
เพื่อเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และ

สติปัญญา
1. เพื่อให้ความสะดวกให้แก่เด็กปฐมวัย ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาปฐมวัย
2. เพื่อสร้างบรรยากาศให้เด็กเกิดความอบอุ่น มั่นใจ สนใจ รักและอยากมาสถานศึกษา
3. เพื่อช่วยผ่อนแรงและประหยัดเวลาแก่ครูในการจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กปฐมวัย
4. เพื่อช่วยตกแต่งสถานศึกษาให้สวยงามทำให้สถานศึกษาน่าสนใจ
5. เพื่อส่งเสริมสัมพันธ์ภาพระหว่างบ้านและสถานศึกษาปฐมวัย

จุดประสงค์ทั้ง 6 ข้อ เป็นจุดประสงค์ที่สำคัญถ้าพิจารณาแล้วการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยมีจุดมุ่งเน้นที่จะจัดเพื่อให้สอดคล้องกับต้องการความสนใจของเด็กเป็นหลักและเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยและถ้าการจัดสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาปฐมวัยที่มุ่งหมายอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรและผู้ปกครองจะทำให้สร้างเสริม สัมพันธ์ภาพที่ดีของสถานศึกษาและผู้ปกครองซึงเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

บทที่ 2
การศึกษาสังเกตการจัดสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกห้องเรียน
ในสถานฝึกปฏิบัติวิชาชีพครู

1. สภาพแวดล้อมภายในอาคาร
1.1 การจัดห้องต่างๆภายในโรงเรียน
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช( 2546 : 91) กล่าวว่า ห้องเรียนควรมีลักษณะดังนี้
1.1.1 ต้องมีห้องเรียนครบตามจำนวนชั้นที่โรงเรียนจัด
1.1.2 ห้องเรียนควรมีขนาดไม่น้อยกว่า 6 X 8 เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ตารางเมตร
ต่อนักเรียน 1 คน
1.1.3 ห้องเรียนควรมีแสงสว่างพอเพียงและเข้าถูกทิศทาง มีอากาศถ่ายเทประมาณ 2.25 ลูกบาศก์เมตรต่อนักเรียน 1 คน
1.1.4 หน้าต่างควรมีเพียงพอที่จะให้อากาศถ่ายเทได้และมีแสงสว่างพอเพียงขอบหน้าต่าง ควรมีความสูงพอให้เด็กมองเห็นทัศนีย์ภาพภายนอกห้องเรียน
1.1.5 พื้นห้องควรเป็นพื้นไม้หรือวัสดุที่เด็ก สามารถนั่งหรือนอนเล่นได้
1.1.6 ห้องเรียนต้องมีฝาผนังกั้นเป็นสัดส่วน ฝาผนังควรเป็นฝาผนังเรียบ ๆ ทาสีสวยงาม ควรทำสีสว่าง ๆ
1.1.7 ความสูงของเพดานห้องเรียนต้องไม่น้อยกว่า 2.8 เมตร
1.1.8 ภายในห้องเรียนควรมีอุปกรณ์ประกอบการสอน การเล่น ตลอดจนวัสดุครุภัณฑ์ที่อำนวยความสะดวกให้ครู นักเรียนเพียงพอ ถ้าเป็นไปได้ควรมี ห้องน้ำ ห้องส้วม อยู่ติดกับห้องเรียนด้วยซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ต้องมีขนาดและติดตั้งที่เหมาะสมกับเด็กรวมทั้งควรมีอ่างล้างมือด้วย
1.1.9 ห้องอื่น ๆ โรงเรียนอนุบาลควรมีห้องพิเศษนอกเหนือจากห้องเรียน ดังต่อไปนี้
1.1.9.1. ห้องพยาบาล 1 ห้อง เตียงพยาบาลอย่างน้อย 2 เตียง มีตู้ยาและเครื่องใช้สำหรับปฐมพยาบาลอย่างเพียงพอ ควรจะมีพยาบาลประจำโรงเรียนอย่างน้อย 1 คน
1.1.9.2. ห้องสมุดพร้อมทั้งอุปกรณ์และหนังสือ ถ้าไม่สามารถจัดห้องสมุดได้ ควรจัดมุมใดมุมหนึ่งหรับเป็นมุมอ่านหนังสือ โรงเรียนอนุบาลที่มีชั้นประถมศึกษาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะแยกห้องสมุดเป็นเอกเทศ จากการที่ผู้สังเกตได้ไปศึกษาสังเกตสภาพแวดล้อมภายในอาคารการจัดห้องเรียน ภายในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พบว่า ทางโรงเรียนได้แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ อนุบาล 1-3 ระดับละ 2 ห้อง และมีห้องบริบาลอีก 1 ห้อง หน้าห้องเรียนแต่ละห้องจะมีชั้นว่างรองเท้าไว้ให้เด็ก และโต๊ะรับประทานอาหารอยู่หน้าห้อง

1.2 การจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียน
เยาวภา เดชะคุปต์ ( 2542 :129) กล่าวว่า การจัดอาคารสถานที่และห้องเรียนสำหรับเด็ก
ปฐมวัย (indoor space) คำนึงถึงว่า เด็กมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ความต้องการในการใช้เนื้อที่จึงแตกต่างกัน เพราะเด็กเล็กจะเคลื่อนไหวรวดเร็วและต้องการเนื้อที่มาก ห้องเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยควรจะมีขนาดใหญ่พอที่เด็กจะทำงานและอยู่รวมกับผู้อื่นโดยไม่รู้สึกอึดอัด การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนควรให้มีชีวิตชีวา มีสภาพคล้ายบ้าน และมีความยึดหยุ่น รูปร่างของห้องเรียนควรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทั้งนี้เพื่อให้เด็กเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมได้สะดวก ห้องเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยควรอยู่ติดพื้น และไม่ควรมีซอกมุมที่เด็กจะหลบซ่อนได้ และควรมีห้องน้ำและอ่างล้างมือไว้ในห้อง ประตูทางเข้าควรอยู่ระดับเดียวกับพื้นถนน ขนาดห้องเรียนควรใหญ่พอที่เด็กจะพัฒนากล้ามเนื้อให้ใหญ่ได้ ห้องเรียนที่เหมาะสมควรมีขนาด 40 x 60 ตารางฟุตต่อเด็ก 1 คน ควรมีเนื้อที่นอกห้องเรียนที่ใช้เป็นสนามเด็กเล่น และบริเวณที่ใช้สำหรับปลูกต้นไม้หรือทำสวนครัว
ภายในห้องเรียนควรมีบริเวณที่เด็กจะทำงานคนเดียวได้ ซึ่งควรจัดเป็นเอกเทศแยกจากเด็กอื่นๆ โดยให้เด็กสามารถทำงานคนเดียวหรือกับครูโดยใช้สมาธินาน ๆ ได้ โดยบริเวณดังกล่าวอาจจะใช้สำหรับทดสอบเด็กทั้งเดี่ยวและกลุ่มได้ บริเวณดังกล่าวนี้อาจจะใช้ชั้นวางหนังสือหรือฉากเตี้ย ๆ กั้นเป็นสัดส่วน แต่ให้อยู่ในสายตาของครูที่จะมองเห็นได้ การจัดห้องเรียนสำหรับเด็กควรจัดเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่มากกว่าห้องเล็ก ๆ หลายห้องทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนบุคลากรที่มีอยู่
นอกจากนี้ถ้าห้องเรียนมีเนื้อที่ต่างระดับก็ควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ใช้เฉลียงสำหรับฟังนิทาน เป็นต้น ภายในห้องเรียนควรจัดศูนย์การเรียน มุมต่าง ๆ หรือบริเวณที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งก่อนจะจัดครูควรที่จะพิจารณาถึงทิศทางการเคลื่อนที่ว่าจะให้เด็กเคลื่อนที่ไปอย่างไร โดยไม่ให้รบกวนกัน ซึ่งมีวิธีจัดการได้หลายวิธี เช่น เอาชั้นสำหรับวางหนังสือนิทานวางรอบ ๆ พรมหรือวางข้างหลังโต๊ะครู เพื่อให้ครูได้ใช้สั่งสอนเด็กเป็นรายบุคคล หรือการใช้กล่องขนาดใหญ่มาเป็นที่เก็บของ

ครูควรให้ความสนใจกับการจัดเนื้อที่โต๊ะ เก้าอี้ หรือ เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ด้วย ซึ่งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่สำคัญเท่ากับพื้นที่โลง ๆ ว่าง ๆ ที่เด็กจะเคลื่อนไหวได้สะดวก ศูนย์การเรียนควรจัดไห้มีความยึดหยุ่นให้มากที่สุด โดยครูจำไว้ว่าจะจัดห้องเรียนให้เหมาะสมกับเนื้อที่ที่มีอยู่และใช้เนื้อที่ทุกตารางนิ้วที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดได้อย่างไร

การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน
1.2.1 อุปกรณ์สำหรับพักผ่อน(rest or sleeping facilities) อุปกรณ์ในการพักผ่อนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กที่มาโรงเรียนตลอดวัน อุปกรณ์ในการพักผ่อนสำหรับเด็ก ได้แก่ ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม หรือเสื้อใน การจัดอาคารสถานที่ควรมีเนื้อที่เหมาะสำหรับเด็กได้นอนพักผ่อนไม่ควรสว่างมาก เพื่อช่วยให้เด็กได้พักผ่อนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ควรเปิดเพลงเบา ๆ ขณะนอนพักให้เด็กฟัง เนื้อที่เหมาะสมสำหรับเด็กนอนพักผ่อนควรมีขนาดดังนี้
27x48 นิ้ว สำหรับเด็กอายุระหว่าง 4-5 ปี
27x52 นิ้ว สำหรับเด็กอายุระหว่าง 4-6 ปี
27x54 นิ้ว สำหรับเด็กอายุระหว่าง 4-7 ปี
บางโรงเรียนที่เด็กมาโรงเรียนแค่ครึ่งวัน ครูอาจจะพรมหรือผ้าเช็ดตัวปูให้เด็กนอนผักผ่อนในช่วงกลางวันได้
1.2.2 ตู้เก็บของและตู้ช่อง ( lockers and storager ) ตู้ช่องควรเป็นสิ่งที่เตรียมเอาไว้ให้เด็กทุกคนเพื่อช่วยให้เด็กรู้จักเก็บของเข้าที่ แต่เด็กแต่ละคนควรมีที่เก็บของใช้ส่วนตัว ตู้ช่องอาจจะทำได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายกับการใช้ ตู้ช่องที่ให้เด็กเก็บของใช้ควรมีขนาดความสูง 35 นิ้ว ยาว 10-12 นิ้ว และลึกประมาณ 10-15 นิ้ว ควรมีตะขอสำหรับแขวนเสื้อ มีชั้นยาวประมาณ 7 นิ้วลงมาจากส่วนบนของตู้ และมีที่วางรองเท้าซึ่งสูงจากพื้นตู้ประมาณ 10 นิ้ว ตู้ช่องควรอยู่ในด้านประตูทางเข้าออก เพราะถ้าอยู่ไกลจากประตูเด็กมักจะลืมสิ่งของของตน นอกจากนี้เด็กแต่ละคนควรมีกล่องหรือกระเป๋าสำหรับใส่ของส่วนตัว ทั้งที่ตู้ช่องและกระเป๋าควรมีชื่อเด็กและสัญลักษณ์เฉพาะตัวของเด็กกำกับเอาไว้ข้างๆ ทั้งนี้เพื่อให้เด็กจำชื่อของตนเอง
ตู้เก็บของเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับใช้เก็บวัสดุต่างๆ ซึ่งควรเป็นตู้ปิดที่ทำเอาไว้ติดผนังและสามารถนำมาใช้เป็นมุมให้เด็กทำงานหรือทำฉากกั้นห้องได้ ภายในตู้ควรมีลิ้นชัก หิ้งไว้เก็บของเล่น กระดาษ และอุปกรณ์อื่นๆเช่น กรรไกร สี ซึ่งควรจะจัดเอาไว้เป็นหมวดหมู่และแยกประเภทตามชนิด ตามหมวด เพื่อให้สะดวกแก่การนำไปใช้
1.2.3. ห้องน้ำอ่างล้างมือ และอุปกรณ์ทำความสะอาด( sanitary facilities ) อ่างล้างเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำความสะอาดของเด็กภายหลังจากการทำกิจกรรมแต่ละครั้ง ห้องน้ำและ
อุปกรณ์ในการล้างมือควรจัดไว้ในห้องน้ำและนอกห้อง โดยควรมีห้องน้ำขนาดใหญ่ 1 ห้อง หรือห้องน้ำขนาดเล็ก 2 ห้อง สำหรับเด็กผู้และเด็กผู้ชายหรือสำหรับใช้ด้วยกันภายในห้องเรียยควรมีหน้าต่างและพัดลมระบายอากาศที่เหมาะสม ควรเป็น 1:5 จะเหมาะกว่า โถส้วมควรมีขนาดตั้งแต่ 10 – 13 นิ้วสูงจากพื้น และที่สำหรับล้างมือควรมีขนาด 2 – 24 นิ้ว สำหรับเด็กอายุระหว่าง 4 – 5 ปี ขนาดขงโถส้วมควรมีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันไปตามอายุของเด็ก อ่างล้างควรอยู่ใกล้ประตูทางออกเพราะเมื่อเด็กเข้าส้วมเสร็จจะได้ล้างมือ นอกจากนี้ภายในห้องเรียนก็ควรมีอ่างล้างมือเอาไว้ให้เด็กล้างมือหลังจากทำกิจกรรมศิลปะและกิจกรรมอื่นๆเสร็จแล้ว
ที่ดื่มน้ำสำหรับเด็กควรจัดตู้น้ำเย็นหรือที่ใส่น้ำดื่มเอาไว้ใหในห้องเรียนและนอกห้องเรียน โดยควรมีขนาดความสูงพอที่เด็กจะกดดื่มได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ควรเตรียมแก้วน้ำเฉพาะตัวเด็กแต่ละคนเอาไว้
1.2.4 ระบบเสียง (Acoustics) เป็นสิ่งที่มีผลต่อคนเราทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนั้นทางโรงเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยจึงควรจัดระบบเสียงให้เหมาะสม การเรียนการสอนภายในห้องเรียนจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ามีเสียงรบกวนจากภายนอก เช่น เสียงเครื่องจักร เสียงยวดยานพาหนะ และเสียงอื่นๆที่ไม่พึงประสงค์ดังเข้ามาในห้องเรียน เพื่อที่จะช่วยลดเสียงต่างๆที่ไม่พึงประสงค์การใช้พรมหรือวัสดุต่างๆ กรุตามฝาผนัง พื้นห้อง หรือเพดาน อาจจะช่วยให้ระบบเสียงดีขึ้น การใช้พรมนอกจากจะช่วยลดเสียงแล้ว ยังสามารถช่วยทำให้ห้องน่าดูขึ้น หรือจะใช้เป็นที่จัดกิจกรรมต่างๆได้
1.2.5 ผนังห้อง (Walls) ฝาผนังห้องเป็นเนื้อที่ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆได้ เช่น ใช้ติดกระดานดำหรือป้ายนิเทศ โดยควรจัดกระดานป้ายนิเทศกับกระดานดำเอาไว้ตำแหน่งที่เหมาะสม ผนังห้องควรทำจากวัสดุที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย และควรทำจากวัสดุที่อ่อนที่เสียงผ่านได้น้อยและสามารถใช้เป็นที่ติดผลงานเด็กได้ด้วย ผนังห้องควรมีขนาดที่สูงไม่มากนัก และควรมีการทาสีให้แสงสว่างแก่ห้อง ห้องที่ทาสีต่างๆจะทำให้เกิดความสวยงามและให้ความรู้สึกที่ท้าทายแก่เด็กและทำให้ดูมีเนื้อที่กว้าง นอกจากนี้ยังให้ความสรู้สึกสบายๆเท่ากับท้าทายให้เด็กอยากมาโรงเรียน แต่ไม่ควรเป็นสีที่กระตุ้นเด็กมากเกินไป และยังควรเลือกใช้อุปกร์ของเล่นเป็นสีหลักๆที่เด็กชอบจะช่วยให้ห้องเรียนมีชีวิตชีวาด้วย
1.2.6 พื้นห้อง (Floors) พื้นห้องเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยควรสะอาด ใช้วัสดุที่เรียบและทำความสะอาดได้ง่าย และไม่ทำให้เกิดริ้วรอยขีดข่วนเมื่อโดนของหนัก ทั้งนี้เพราะกิจกรรมของเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่จะทำอยู่บนพื้นห้อง ดังนั้นพื้นจึงไม่ควรมีสิงกีดขวาง ทั้งนี้เพื่อให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ บริเวณสำหรับรับประทานอาหาร และห้องเรียนซึ่งอาจจะใช้บริเวณเดียวกันควรเป็นบิเวณที่ทำความสะอาดได้ง่าย โต๊ะและเก้าอี้ควรเคลื่อนย้ายได้สะดวก การเตรียมอาหารและบริเวณที่ตักอาหารควรมีขนาดมาตรฐานและสะอาดถูกต้องตามหลักอนามัย
1.2.7 หน้าต่างและประตู (Windows and Doors) ประตูทางเข้าออกและหน้าต่างเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของการจัดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้แก่เด็ก ดังนั้น บริเวณที่เป็นประตูและหน้าต่างควรได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน หน้าต่างควรมีระดับต่ำพอที่เด็กจะมองออกไปข้างนอกห้องได้ นอกจากนี้ยังมีผ้าม่าน ม่านบังตา หรือบานเกร็ด ทั้งนี้เพื่อป้องกันแสงสว่างที่อาจจะจ้ามากเกินไป หลังคาควรมีช่วงยาวพอเหมาะที่จะให้เกิดร่มเงาที่เหมาะสม หน้าต่างควรมีขนาดเหมาะสมกับผ้าม่านหรือม่านบังตา บริเวณที่รับประทานอาหารควรใช้หน้าต่างที่เป็นบานเกร็ด หน้าต่างที่เปิดออกไปแล้วพบแต่กำแพงหรือไม่มีอะไรให้ดู ควรจัดบริเวณที่วางของเอาไว้โชว์จะดีกว่า ประตูควรมีล็อกตัวเองได้ในตัวและประตูไม่ควรมีบานบังตาที่จะตีกลับมาโดนตัวเด็กได้
1.2.8 ระบบระบายอากาศ แสงสว่าง และความร้อน (Ventilation , lighting , Heat) ระบบการระบายอากาศที่ดีที่สุด คือ การเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท แต่บางครั้งสภาพอากาศก็ไม่อำนวยให้ทำได้ หน้าต่างจึงควรสามารถปรับให้เปิด – ปิด ได้ด้วยตัวเด็ก ถ้าอากาศร้อนเกินไปควรมีพัดลมเพดานเพื่อช่วยระบายอากาศ ไฟฟ้าควรมีขนาดสูงจากพื้น 10-12 ฟุต และควรมีโป๊ะไฟเพื่อไม่เคืองตา สวิตซ์ไฟควรอยู่ระดับเอื้อมไม่ถึง แสงสว่างในห้องไม่ควรจ้าเกินไปเพราะจะทำให้เคืองตา บริเวณที่มืดควรทาสีเพื่อช่วยให้บริเวณนั้นแลดูสว่างขึ้น ความสว่างจากธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับการทำงานมากกว่าแสงไฟฟ้า
1.2.9 เครื่องเรือนหรือโต๊ะเก้าอี้ (Furniture)
- โต๊ะเก้าอี้ ควรสามารถโยกย้ายได้ ควรมีขนาดพอเหมาะกับเด็ก แลดูน่าใช้ ง่ายต่อการทำความสะอาดและใช้ได้ง่าย เครื่องใช้ที่เหมาะสมควรสามารถใช้ได้หลายๆอย่าง
- โต๊ะ ควรมีความสูงแตกต่างไปตามอายุของเด็กตั้งแต่ 15 – 22 นิ้ว โต๊ะที่มีรูปร่างต่างจะใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างมากกว่า เช่น โต๊ะเล็กๆสำหรับมุมหนังสือ โต๊ะที่วางเอาไว้ติดผนัง ฯลฯ โต๊ะควรปูด้วยฟอร์ไมก้า และความสามารถเคลื่อนย้ายได้ในโอกาสต่างๆ
- เก้าอี้ ควรมีขนาดพอเหมาะกับเด็ก และเบาพอที่เด็กจะยกและเคลื่อนย้ายได้โดยไม่เกิดเสียง เก้าอี้ควรมีขนาดสูงตั้งแต่ 14 – 20 นิ้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก และควรมีโต๊ะเก้าอี้ใหญ่สำหรับครูด้วย นอกจากนี้ควรมีม้านั่ง พรม เสื่อ เก้าอี้โยกย้ายเอาไว้มุมบ้าน ทั้งนี้มีบรรยากาศคล้ายบ้าน วัสดุที่ใช้ควรมีสีสันต่างๆ
- เวทีเล็กๆสำหรับให้เด็กแสดงละครหรือบทบาทสมมติ ควรมีขนาดกว้าง 3 ฟุต 6 นิ้ว ยาว 5 ฟุต และสูง 1 ฟุต จากพื้น ทั้งนี้เพื่อสะดวกต่อการทำความสะอาด
- นาฬิกา ควรมีติดเอาไว้บนผนัง โดยมีเข็มสีดำบนหน้าปัด

จากการที่ผู้ศึกษาได้สังเกตสภาพแวดล้อมในห้องเรียน พบว่า จะมีหน้าต่างที่อยู่ในระดับสายตาของเด็ก พื้นห้องจะปูด้วยกระเบื้องสีขาว มีมุม 7 มุมอยู่ด้านข้างห้อง ส่วนพื้นที่ตรงกลางของห้องจัดไว้ให้เด็กทำกิจกรรม มีกระดานดำอยู่หน้าชั้นเรียนซึ่งอยู่ในระดับสายตาเด็ก มีโต๊ะเก้าอี้ขนาดเล็กสำหรับครู ไม่มีโต๊ะเก้าอี้สำหรับนักเรียน ส่วนมากเด็กจะทำกิจกรรมกับพื้นห้องเรียน มีที่แขวนผลงานเด็ก กล่องใส่ผลงานของเด็กซึ่งกล่องใส่ผลงานนี้เด็กสามารถเก็บได้ด้วยตนเอง มีราวที่แขวนชุดนอนของเด็ก นอกจากนี้ยังมีชั้นวางของขนาดใหญ่ซึ่งอยู่หลังห้องเรียน มีทั้งหมด 4 ชั้น ซึ่งชั้นแรกเอาไว้เก็บที่นอนของเด็กเป็นประตูบานเลื่อนเปิดปิดง่าย ชั้นที่ 2 วางแฟ้มสะสมผลงานสำหรับเด็ก ชั้นที่ สำหรับวางกระเป๋าและสื่อ โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องเล่น CD และชั้นบนสุดชั้นที่ 4 เอาไว้วางกล่องสื่อซึ่งแยกประเภทหน่วยการเรียนต่างๆ เก็บกระดาษ และอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องยังมีถังขยะ ไม้กวาด ที่ตักผง ที่บริเวณมุมด้านหลังห้องเรียน รางวางแก้วน้ำแลแปรงสีฟันของเด็ก จะอยู่ด้านหน้าห้องเรียน ประตูห้องเรียนด้านหน้าชั้นเรียนและหลังชั้นเรียนเป็นประตูกระจกซึ่งเด็กจะเปิดเข้าออกยากและยังอาจก่อให้เกิดอันตรายกับเด็ก

1.3 ความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน
จากการที่ผู้สังเกตได้ไปสังเกตความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนอนุบาล พบว่า พื้นห้องเรียนปูด้วยกระเบื้องไม่ได้ปูด้วยแผ่นยาง เนื่องจากในห้องเรียนเป็นพื้นกระเบื้องไม่เหมาะที่จะให้เด็กวิ่งเล่นภายในห้องเรียน เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้ ในขณะเด็กทำกิจกรรม ประตูเปิดยากเพราะเป็นประตูกระจก ดังนั้นต้องให้ครูเป็นผู้เปิดให้เด็ก เฟอร์นิเจอร์ต่างๆไม่แหลมคม ปลั๊กไฟอยู่สูงพ้นมือเด็ก ผงซักฟอกและสารเคมีต่างๆอยู่พ้นมือเด็ก สภาพห้องเรียนมีความสะอาด ครูประจำชั้นทำความสะอาดทั้งตอนเช้าก่อนเด็กมาโรงเรียนและตอนเย็นหลังเด็กเลิกเรียนกลับบ้าน บริเวณห้องเรียนมีแสงสว่างเพียงพอ ห้องเรียนทุกห้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เด็กจะไดเรียนหรือทำกิจกรรมในห้องเรียนปรับอากาศทุกทัน ซึ่งอาจทำให้เด็กได้รับเชื้อโรคง่ายหรือแพร่กระจายเชื้อโรคสู่ผู้อื่นง่าย

1.4 การสะท้อนภาพถ่ายการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียน
ภาพที่ 1.4.1 พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมในห้องเรียน


ที่มา ห้องเรียนอนุบาล 1 / 1
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
ผู้ถ่ายภาพ นางสาวทัศนีย์ สาพิมพ์ นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 3
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
กิจกรรม
พื้นที่ภายในห้องเรียนจะเป็นพื้นที่ปูด้วยกระเบื้องสีขาว แสงแดดส่องเข้ามาในห้องเรียน ตรงกลางห้องเรียนมีไว้เพื่อให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆที่ต้องใช้พื้นที่ บริเวณภายในห้องเรียนจะมุมประสบการณ์ 7 มุม คือ มุมดนตรี มุมวิทยาศาสตร์ มุมบล็อก มุมอ่าน มุมบทบาทสมมติ มุมเกมการศึกษา และมุมสร้างสรรค์ ที่จัดอยู่ภายในห้องเรียนชิดริมผนังห้องเรียน และมีการโชว์ผลงานเด็กไว้ที่หน้าห้องเรียน มีโต๊ะเล็กๆสำหรับครูเพื่อสนทนากับเด็ก


ภาพที่ 1.4.2. มุมหนังสือ

ที่มา ห้องเรียนอนุบาล 1 / 1
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
ผู้ถ่ายภาพ นางสาวทัศนีย์ สาพิมพ์ นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 3
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
กิจกรรม
มีกระเป๋าผนังสำหรับใส่หนังสือ และมีตู้ขนาดเล็กใส่หนังสือ มีหนังสือนิทานมากมายให้เด็กได้เลือกอ่าน มีเหมือนให้เด็กได้นอนอ่านหนังสือ และมีโต๊ะให้เด็กได้นั่งอ่านได้เล่นกับตุ๊กตา


ภาพที่ 1.4.3. มุมสร้างสรรค์



ที่มา ห้องเรียนอนุบาล 1 /
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
ผู้ถ่ายภาพ นางสาวทัศนีย์ สาพิมพ์ นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 3
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
กิจกรรม
มุมนี้คือมุมศิลปะสร้างสรรค์ อยู่ติดกับริมหน้าต่าง ชั้นวางอุปกรณ์ศิลปะสร้างสรรค์เป็นชั้น 3 ชั้น สีฟ้าอ่อน ภายในชั้นวางกล่องถาดสำหรับใส่อุปกรณ์สำหรับทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เช่น ดินสอ กาว กรรไกร สีน้ำ สีเทียน สีไม้ เศษกระดาษสำหรับปะติด แป้งโดว์ แผ่นรองปั้นแป้งโดว์ กระดาษ เป็นต้น





ภาพที่ 1.4.4. มุมบล็อก


ที่มา ห้องเรียนอนุบาล 1 / 1
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
ผู้ถ่ายภาพ นางสาวทัศนีย์ สาพิมพ์ นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 3
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
กิจกรรม
มุมบล็อกเป็นหนึ่งในมุมประสบการณ์ทั้ง 7 มุมภายในห้องเรียน มุมบล็อกเป็นมุม หนึ่งในมุมประสบการณ์ทั้ง 7 มุมภายในห้องเรียน มีตู้สำหรับใส่สื่อในการเล่นประเภทต่อเข้าและแยกออก ตู้มีช่องใส่ของ 9 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีบล็อกพลาสติก บล็อกไม้ ตัวต่อพลาสติก ตุ๊กตาพลาสติก เป็นต้น พื้นภายในมุมบล็อกบุด้วยจิ๊กซอโฟมป้องกันเสียง และข้างบนตู้จะวางผลงานเด็กไว้เป็นบ้านที่ทำจากกล่องกระดาษชนิดต่างๆ

2. สภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน
2.1 การจัดบริเวณและเนื้อที่
สมร ทองดี (2547:91) กล่าวว่า สภาพแวดล้อมที่เป็นสถานที่ สถานศึกษาปฐมวัยควรมีลักษณะดังนี้
2.1.1. ที่ตั้งโรงเรียน
2..1.1.1 ที่ตั้งของโรงเรียนต้องไม่ไกลจากชุมชนมากเกินไป การไปมาสะดวก
2.1.1.2 มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่อยู่ใกล้แหล่งเสื่อมโทรม ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น หรือควันรบกวน ทั้งอยู่ไกลจากแหล่งอันตรายต่าง ๆ
2.1.1.3 สภาพพื้นที่เหมาะสมสำหรับทำการก่อสร้างโรงเรียน ที่ดินจะต้องไม่มีหลุมบ่อหรือเอียงลาดชันมาก จนทำการก่อสร้างยาก ชนิดของดินจะต้องมีคุณสมบัติดูดซึมและระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ท่วมปลูกต้นไม้ง่าย
2.1.1.4 ควรมีสายเมนไฟฟ้า ประปา และท่อระบายน้ำผ่านใกล้เคียง
2.1.2. บริเวณ
2.1.2.1 โรงเรียนอนุบาลควรมีเนื้อที่กว้างพอสมควร โดยยึดหลักนักเรียน 1 คน ต่อเนื้อที่ 10 ตารางเมตร
2.1.2.2 โรงเรียนอนุบาลควรมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 8 ไร่
2.1.2.3 เด็กวัยนี้ไม่ชอบอยู่นิ่ง ชอบเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โรงเรียนจึงควรมีสนามสำหรับไห้เด็กวิ่งเล่น และจัดกิจกรรมของโรงเรียน โดยถือเกณฑ์เฉลี่ยนักเรียน 1 คน ต่อเนื้อที่สนาม 1 ตารางเมตร พื้นที่สนามราบเรียบไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ ปราศจากสิ่งอันก่อให้เกิดอันตรายแก่เด็ก
2.1.2.4 บริเวณโรงเรียนอนุบาลควรจัดตกแต่งให้มีลักษณะร่มรื่น สวยงามมีดอกไม้ประดับและไม้ที่ให้ร่มเงา บริเวณนี้มิได้เป็นสนามซึ่งสูงต่ำตามลักษณะธรรมชาติอยู่แล้ว ควรปรับพื้นผิวให้ราบเรียบแต่ปล่อยสูงต่ำและเนินธรรมชาติไว้ ควรจะมุ่งสำหรับนั่งเล่น หรือพักผ่อนบรรยากาศในโรงเรียนควรมีลักษณะคล้ายบ้าน
2.1.3. สนาม โรงเรียนอนุบาล ควรมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 3 ไร่ การจัดสนามควรแบ่งเนื้อที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ
2.1.3.1 บริเวณที่มีการปูพื้น เช่น ปูแผ่นคอนกรีต ปูอิฐ ฯลฯ ควรมีเนื้อที่ประมาณ 200 ตรารางวา 2.1.3.1 บริเวณที่ติดตั้งอุปกรณ์ของเด็ก ควรมีเนื้อที่ประมาณ 200 ตรารางวา
2.1.3.2 บริเวณที่เป็นสนามหญ้า สำหรับเด็กเล่น และจัดกิจกรรมกลางแจ้งควรมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 2 ไร่
2.1.3.3 บริเวณโรงเรียนมีความสะอาดเรียบร้อยมีทางระบายน้ำทิ้งและกำจัดขยะ
2.1.3.4 เด็กอนุบาลเป็นเด็กเล็ก ต้องมีการควบคุมดูแลโดยใกล้ชิด ดังนั้นโรงเรียนอนุบาลจึงควรมีรั้วกั้นเป็นขอบเขตแน่นอน เพื่อความสะดวกในดารดูแลเด็ดและทรัพย์สินของโรงเรียน

จากการที่ผู้ศึกษาได้ไปศึกษาสังเกตการจัดบริเวณและเนื้อที่ในโรงเรียนสาธิตนั้น ที่ตั้งโรงเรียนไม่ไกลจากชุมชน เดินทางไปมาสะดวก ไม่อยู่ใกล้แหล่งเสื่อมโทรม ไม่มีเสียงรบกวน แต่มีเนื้อที่ค่อนข้างแคบเพราะมีขนาดจำกัด ทางโรงเรียนมีอาคารทั้งหมด 4 อาคาร โดยอาคารด้านหลังสุดนั้นจะเป็นอาคารของชั้นอนุบาล มีทั้งหมด 7 ห้องบริเวณของแต่ละห้องเป็นพื้นคอนกรีตหน้าห้องแต่ละห้องจะมี ที่แขวนแก้ว แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดมือ อ่างล้างมือ โต๊ะรับประทานอาหาร แท้งน้ำ และชั้นวางร้องเท้า โต๊ะรับประทานอาหารจะใช้ร่วมกันทั้งอนุบาลและประถม ส่วนสนามเด็กเล่นจะอยู่ติดกับห้องอนุบาล 3 มีเครื่องเล่นสนามขนาดใหญ่ มีต้นไม้ใหญ่ที่คอยให้ร่มเงาหนึ่งต้น และบริเวณด้านหน้าของโรงเรียนก็จะเป็นเนื้อที่ในการเข้าแถวเคารพธง
มีพื้นที่ที่เป็นสนามเอาไว้ให้เด็กทำกิจกรรม บริเวณสนามจะไม่ค่อยดีเพราะสนามนี้จะใช้ทั้งอนุบาลและประถม เพราะมีเนื้อที่จำกัด สนามที่ให้เด็กเล่นนั้นก็จะมีต้นไม้ที่คอยให้ร่มเงา สนามก็เป็นพื้นคอนกรีต ไม่มีพื้นหญ้า เมื่อเด็กวิ่งเล่นก็จะได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ในแต่ละจุดจะมีถังขยะเอาไว้ให้เด็กทิ้งขยะเพื่อความสะอาดของโรงเรียน

2.2 การตกแต่งบริเวณและเนื้อที่
จากการสังเกตได้สังเกตการตกแต่งบริเวณและเนื้อที่ของโรงเรียน พบว่า ภายในโรงเรียนไม่ค่อยมีต้นไม้ ไม่มีการจัดสวนหย่อม ส่วนบริเวณหน้าห้องเรียนจะมีบอร์ดจัดแสดงผลงานของเด็กและให้ความรู้ในเรื่องต่างๆเช่น วันปีใหม่ วันคริสมาสร์ และวันสำคัญต่างๆ มีต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้นที่คอยให้ร่มเงาและมีถังขยะวางไว้เป็นจุดๆ



2.3 สนามเด็กเล่น
เยาวภา เดชะคุปต์ (2542:26) กล่าวถึง การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียนว่า
การเล่นกลางแจ้ง (Outdoor Play)
การเล่นนอกห้องเรียน หรือการเล่นกลางแจ้งช่วยให้เด็กพัฒนาร่างกาย เป็นคนแข็งแรง มีสุขภาพที่ว่องไว และมีจินตนาการดี บรรยากาศนอกห้องเรียนจะให้โอกาสเด็กได้ทำกิจกรรมที่พัฒนาด้านและร่างกาย การสำรวจ การค้นพบ และการเกิดการเรียนรู้ การทำ กิจกรรมนอกห้องเรียนอาจไม่ใช่การวิ่ง การปีนป่าน เครื่องเล่นสนามเท่านั้น แต่ครูอาจจะให้เด็กวาดภาพ ปั้นดินเหนียว หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ กล่องและลังกระดาษเป็นอุปกรณ์ง่าย ๆ ที่สามารถจัดไว้นอกห้องเพื่อโอกาสเด็กได้สร้างจินตนาการ หรือสร้างสรรค์ดินแดนที่เขาคิดขึ้นในจินตนาได้เอง
เนื้อที่กลางแจ้ง เนื้อที่กลางแจ้งและอุปกรณ์ควรจัดให้แก่เด็กควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เกิดประสบการณ์หลากหลาย ถ้าห้องเรียนกับสนามเด็กเล่นอยู่ติดกับอุปกรณ์ที่จัดไว้แก่เด็กเล่นได้ทั้งในห้องและนอกห้องเรียน บริเวณสนามเด็กเล่น ควรมีขนาด 7.5 ถึง 100 ตารางฟุตต่อเด็ก 1 คน เป็นอย่างน้อย ถ้าเด็กหลายกลุ่มมาใช้สนามเด็กเล่น และมีเนื้อที่จำกัด ควรจัดตารางเวลาให้เด็กแต่ละกลุ่มหมุนเวียนกันมาเล่น สนามเด็กเล่นควรติดอยู่กับห้องนั่งเล่นและควรอยู่ชิดมุมใดมุมหนึ่งของอาคารเพื่อให้ครูสามารถดูแลได้ทั่วถึง บริเวณสนามเด็กเล่นได้หลายอย่าง สามารถทำความสะอาดได้ง่าย สามารถฉีดน้ำและแห้งได้รวดเร็ว และปลอดภัยจากไฟไหม้พื้นผิวของสนามไม่ควรใช้พื้นแข็งเพราะถ้าเด็กหกล้มบาดเจ็บได้ สนามเล่นดังกล่าวควรมีร่มเงา โดยปลูกต้นไม้เพื่อคลุมร่มเงา แสงสว่าง และเสียง
สนามเด็กเล่นควรมีความเป็นสัดส่วน โดยควรมีกำแพงหรือฉากกั้นเพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย และครูควรดูแลอย่างใกล้ชิดขณะที่เด็กเล่น แต่ไม่ควรรบกวนขณะที่เด็กเล่นอย่างอิสระ และควรมีกำลังลมและแดดเอาไว้บ้าง บางส่วนมีมุมที่เด็กจะเล่นได้ทั้งคนเดียวและเล่นเป็นกลุ่มโดยไม่ห่างสายตาครูนัก ที่สนามเด็กเล่น ควรปลูกต้นไม้ประดับที่ช่วยทำให้สนามสดชื่น แต่ควรจัดเอาไว้ในบริเวณที่เด็กจะไม่เหยียบย่ำ การจัดบริเวณให้เหมาะสมช่วยลดความร้อนจากอุณหภูมิลงได้
ผิวสนามเด็กเล่นที่ดีที่สุดควรเป็นพื้นหญ้า บางส่วนของสนามควรมีบริเวณที่เป็นเนินเพื่อให้เด็กได้เล่นลื่นไถล และทั้งบริเวณควรจะให้น้ำซึมผ่านได้ดี บางส่วนของสนามควรเป็นพื้นแข็งสำหรับให้เด็กเล่นถีบจักยาน และไม่ควรมีก้อนอิฐ ก้อนหิน หรือเศษแก้ว บริเวณบ่อทรายหรือบริเวณที่จะให้เด็กขุดดินควรจะปลอดภัยจากสัตว์ร้ายต่าง ๆ และควรปิดเมื่อไม่ใช้ บ่อทรายที่ก่อสร้างด้วยคอนกรีตจะใช้ได้ง่ายและราคาถูกกว่าถ้าต้องการใช้นาน ๆ สนามเด็กเล่นควรมีรั้วขนาดสูงพอประมาณที่เด็กจะปีนป่ายซึ่งไม่ได้กั้นเอาไว้เพื่อความปลอดภัยบริเวณที่เป็นสนามเด็กเล่น ควรอยู่ทางทิศใต้ของอาคาร เพราะจะได้มีแสงสว่างตลอดเวลา


จากการที่ผู้สังเกตได้สังเกตสนามเด็กเล่นของโรงเรียน พบว่า เป็นพื้นปูนมีพื้นที่น้อยไม่เหมาะที่จะให้เด็กวิ่งเล่นเพราะอาจจะหกล้มบาดเจ็บได้ มีเครื่องเล่นอยู่ 5 ชนิด คือ บ้านไม้ 5-6 หลังกระดานไม้ลื่น เอาไว้ให้เด็กเล่นแต่ก็มีเด็กประถมมาเล่นด้วย สนามเด็กเล่นจะติดอยู่บริเวณหน้าโรงเรียน บริเวณสนามเด็กล่นจะมีบ่อทรายแต่บ่อทรายไม่สะอาดมีเศษกระดาษและขยะ ตรงบ่อทรายมีต้นไม้คลุมให้ร่มเงา มีแสงสว่างเหมาะสม

2.4 เครื่องเล่นสนาม
เยาวภา เดชะคุปต์ (2542:30) กล่าวถึง อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในการเล่นกลางแจ้ง การเลือกอุปกรณ์ต่าง ๆ ควรขึ้นกับวุฒิภาวะของเด็กแต่ละระดับเป็นเกณฑ์ที่มีวุฒิภาวะเขาจะสามารถใช้วัสดุอุปกรณ์ที่คล้ายคลึงกันแทนกันได้ในกิจกรรมต่าง ๆ แต่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี ครูควรจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใหม่และง่ายจนเกินไป ซึ่งบางครั้งเด็กมักจะใช้เครื่องเล่นที่แตกต่างไปจากผู้ออกแบบคิดไว้ เด็กเล็ก ๆ จะชอบใช้อุปกรณ์ซึ่งใช้แล้วใช้เล่า ดังนั้น อุปกรณ์ที่จัดให้เด็กเล็กจึงควรมีความง่าย เล่นได้หลายอย่าง และก่อให้เกิดการสร้างจินตนาการได้สูง
เครื่องเล่นสนามเป็นสิ่งที่ควรตั้งไว้ขอบ ๆ สนามเพื่อให้ง่ายต่อการดูแล และเครื่องเล่นแต่ละชิ้น ควรจัดไว้ให้ห่างกันเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น เครื่องเล่นแต่ละชิ้นควรสร้างและติดตั้งอย่างระมัดระวังและมีการบำรุงรักษาเป็นอย่างดี เครื่องเล่นที่ให้เด็กปีนป่ายหรือแกว่งไกวควรใส่ทรายหรือขี้เลื่อยเอาไว้ข้างล่าง เพื่อป้องกันการเจ็บตัวเมื่อเด็กตกลงมา
จากการที่ผู้สังเกตได้สังเกตเครื่องเล่นสนามของโรงเรียนพบว่า เครื่องเล่นสนามของเรียนเป็นเครื่องเล่นสนามที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ครบทุกด้าน อีกทั้งยังมีความปลอดภัยเนื่องจากทำจากวัสดุที่มีความยืดหยุ่น คือพลาสติกหนา มีขอบกั้นกันการล้นจากเครื่องเล่น พื้นเครื่องเล่นสนามปูด้ายพื้นที่ยางที่มีความนิ่มกันการบาดเจ็บของเด็ก สีของเครื่องเล่นสนามเป็นสีสันที่สดใส ดึงดูดความสนใจของเด็ก อีกทั้งยังให้เด็กได้เรียนรู้ในเรื่อง สี ขนาด รูปทรง รูปร่าง การลื่นไหล แรงโน้มถ่วงของโลกเป็นต้น

2.5 ความปลอดภัยของสภาพภายนอกอาคาร
จากการที่ผู้ศึกษาได้สังเกตความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน พบว่า บริเวณเครื่องเล่นสนามขนาดใหญ่ เครื่องเล่นสนามทำจากวัสดุที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก พื้นบริเวณเครื่องเล่นสนามปูด้วยอิฐยางป้องกันอุบัติเหตุขณะเล่น มีต้นไม้ขนาดใหญ่ให้ร่มเงา แดดไม่ส่องผ่านมากจนเกินไป และเครื่องเล่นสนามใช้เล่นทั้งเด็กอนุบาลและเด็กประถม บริเวณหน้าห้องเรียนเป็นพื้นปูน บริเวณทางเดินแคบ ส่วนบริเวณสนามด้านหน้าโรงเรียนมีความกว้างเพียงพอที่จะให้เด็กทำกิจกรรมได้ ในช่วงเวลาบ่ายโมงจะมีรถรับส่งนักเรียนมาจอดรับเด็กนักเรียน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กขณะรถวิ่งเข้าออก

2.6 การสะท้อนภาพถ่ายการจัดสภาพแวดล้อมนอกห้องเรียน
ภาพที่ 2.6.1 เครื่องเล่นสนาม


ที่มา ห้องเรียนอนุบาล 1/1
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
ผู้ถ่ายภาพ นางสาวทัศนีย์ สาพิมพ์ นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 3
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
กิจกรรม
เครื่องเล่นสนามของเรียนเป็นเครื่องเล่นสนามที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ครบทุกด้าน เครื่องเล่นสนามมีความปลอดภัยพื้นเครื่องเล่นสนามปูด้ายพื้นที่ยางที่มีความนิ่มกันการบาดเจ็บของเด็ก เป็นเครื่องที่มีสีสันน่าสนใจดึงดูดความสนใจของเด็ก




ภาพที่ 2.6.2 บ่อทราย


ที่มา ห้องเรียนอนุบาล 1 / 1
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
ผู้ถ่ายภาพ นางสาวทัศนีย์ สาพิมพ์ นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 3
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
กิจกรรม
บ่อทรายจะติดอยู่บริเวณอาคารเรียน เป็นบ่อที่มีการฉาบปูนขึ้นมาเป็นขอบล้อมรอบต้นไม้ใหญ่ มีการตกแต่งขอบบ่อด้วยสีสันที่สวยงาม ภายในบ่อทรายไม่สะอาดมีเศษกระดาษและขยะและไม่มีอุปกรณ์ให้เด็กได้เล่นกับทราย ตรงบ่อทรายมีต้นไม้คลุมให้ร่มเงา มีแสงสว่างเหมาะสม


ภาพที่ 2.6.3 สถานที่รับประทานอาหาร


ที่มา ห้องเรียนอนุบาล 1 / 1
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
ผู้ถ่ายภาพ นางสาวทัศนีย์ สาพิมพ์ นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 3
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
กิจกรรม
บริเวณโต๊ะรับประทานอาหาร อยู่บริเวณหน้าอาคารเรียนอนุบาล มีหลังคาคลุมป้องกันแดดและฝน ด้านข้างมีรางน้ำสำหรับล้างทำความสะอาด โต๊ะสำรับรับประทานอาหารคือโต๊ะไม้ มีการล็อกพื้นด้วยปูน มีการจัดเรียงโต๊ะวางเป็นแนวยาว คู่ขนาน โต๊ะหนึ่งชุดมีที่นั่งสองตัว ในหนึ้งโต๊ะสามารถให้เด็กนั่งได้ถึง 8 – 10 คน



ภาพที่ 2.6.4 พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมในห้องเรียน
















ที่มา ห้องเรียนอนุบาล 1 / 1
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
ผู้ถ่ายภาพ นางสาวทัศนีย์ สาพิมพ์ นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 3
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
กิจกรรม
ห้องน้ำมีอุปกรณ์ในการล้างมือควรจัดไว้ในห้องน้ำและนอกห้อง มีห้องน้ำขนาดใหญ่ 1 ห้อง เป็นห้องน้ำชาย ห้องน้ำขนาดเล็ก 4 ห้อง ประตูห้องน้ำเล็ก เป็นประตูครึ่งบาน สามารถเปิดจากด้านนอกได้ และมีก๊อกน้ำอยู่บริเวณหน้าห้องน้ำ ให้เด็กล้างทำความสะอาด ภายในห้องน้ำมีหน้าต่างและพัดลมระบายอากาศที่เหมาะสม



บทที่ 3
สรุปผลการศึกษาสังเกตการจัดสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกห้องเรียน
ในสถานฝึกปฏิบัติวิชาชีพครู

การเรียนรู้ของเด็กเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการสังเกตหรือการเลียนแบบที่กับสิ่งต่างๆรอบตัวจะกระตุ้นให้เข้าใจถึงผลที่เกิดขึ้นตามมาของพฤติกรรม ซึ่งจะเป็นกระบวนการทางปัญญาของผู้เรียน เช่น การเรียนรู้พฤติกรรมที่เสริมสร้างสังคมการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นการมีตัวแบบที่ดีจะมีผลต่ออิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมความมีวินัยในตนเองของเด็กและความรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง นอกจากกระบวนการทางปัญญาของเด็กก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังที่เพียเจท์ กล่าวว่า อัตราการพัฒนาการในตัวเด็ก แต่ละคนจะแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อมที่ได้รับและสิ่งแวดล้อมยังมีอิทธิพลต่อกระบวนการคิดของเด็ก เพราะเด็กจะเกิดการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว โดยอาศัยกระบวนการทำงานของโครงสร้างทางปัญญา (อุษา สังข์น้อย.2531 : 11 อ้างอิงจาก มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์.2547:125)
การจัดสภาพแวดล้อมที่ดีที่เหมาะกับเด็กปฐมวัยนั้นจะช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเด็กตามแนวคิดของนักจิตวิทยา เช่น เฟรอเบล มอนเตสซอรี่ และเพียเจท์ ซึ่งให้ความเห็นตรงกันว่า เด็กเล็กๆ นั้นจะเรียนรู้โดยลงมือกระทำในสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนและกระตุ้นการตอบสนองของเด็กในโรงเรียนอนุบาล จึงมีการจัดสภาพแวดล้อมในลักษณะดังกล่าวทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน โดยมีการจัดประสบการณ์ที่สอดคล้องกับหลักจิตวิทยาพัฒนาการและทฤษฎีการเรียนรู้ของเด็ก มีการจัดสื่อที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้และได้รับประสบการณ์ตรง ส่วนทางด้านเนื้อหาจะจัดรวมกันในลักษณะบูรณาการเป็นหน่วยการสอน และจัดให้เด็กเรียนรู้ในรูปของกิจกรรมที่เปิดกว้าง เพื่อให้เด็กแต่ละคนได้เลือกทำตามความสนใจและความสามารถ โดยกำหนดประสบการณ์ดังกล่าวลงในตารางกิจกรรมประจำวัน ซึ่งมีการกำหนดระยะเวลาสำหรับการทำ กิจกรรมแต่ละช่วงไม่นานเกินไป และเป็นกิจกรรมหนักเบาสลับกัน ตั้งแต่กิจกรรมในร่มและกลางแจ้ง การจัดสภาพแวดล้อมดังกล่าวจึงเป็นการจัดประสบการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กให้เด็กได้พัฒนาในทุกๆ ด้าน เพื่อเป็นพื้นฐานของการพัฒนาในวัยต่อไปจากการสังเกตและจดบันทึกสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนพบว่า การจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียน มีจำนวนห้องเรียนครบตามจำนวนชั้นที่โรงเรียนจัดมีขนาดกว้างขาวงเพียงพอต่อจำนวนเด็ก พื้นห้องจะปูด้วยกระเบื้องสีขาว จะมีหน้าต่างขนาดกว้างอยู่ในระดับสายตาของเด็ก แต่อากาศในห้องเรียนของเด็กอนุบาลติดเครื่องปรับอากาศ แต่ห้องเรียนของเด็กอนุบาลหน้าจะได้รับอากาศจากธรรมชาติมากกว่าที่จะได้รับจากเครื่องปรับอากาศ เพราะถ้าเด็กอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ นานและบ่อย เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายได้ ภายในห้องจะมีมุมประสบการณ์ทั้งหมด 7 มุม เช่น มุมวิทยาศาสตร์ มุมเกมการศึกษา มุมบล็อก มุมดนตรี มุมอ่าน มุมบทบาทสมมุติ และมุมศิลปะสร้างสรรค์ มุมแต่ละมุมสามารถเคลื่อนย้ายได้ ส่วนพื้นที่กลางห้องเป็นพื้นที่โล่ง มีไว้ให้เด็กทำกิจกรรมและเรียนหนังสือ

จากการสังเกตและจดบันทึกสภาพแวดล้อมภายนอกโรงเรียนพบว่าบริเวณหน้าห้องเรียนจะมีโต๊ะไว้สำหรับรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับเด็กอนุบาลไม่สูงเกินไป จะเป็นโต๊ะยาวและมีขนาดใหญ่ มีอ่างล้างมือเพียงพอต่อเด็ก เด็กสามารถล้างมือหรือทำความสะอาดได้ด้วยตนเองเพราะอ่างเหมาะสำหรับเด็ก ซึ่งการที่ให้เด็กได้ทำความสะอาดมือเป็นการส่งเสริมสุขลักษณะที่ถูกต้องกับเด็ก มีห้องน้ำอยู่นอกห้องเรียนหน้าห้องน้ำก็จะมีอ่างล้างมือให้เด็กได้ล้างทำความสะอาดหลังจากออกจากห้องน้ำ บริเวณสนามจะมีพื้นที่แคบ และเป็นพื้นปูน ไม่ต้นไม้อากาศค่อยข้างร้อนมีเครื่องเล่นสนามอยู่ 5 ชนิด คือ บ้านไม้จำลอง ชิงช้า กระดานลื่น บ่อทราย อุโมงค์สำหรับเด็กลอด เครื่องเล่นที่มีอยู่จึงใช้ได้ทั้งเด็กประถมและอนุบาล เครื่องเล่นบางอย่างควรมีการซ่อมแซม บ่อทรายไม่สะอาดทรายน้อยเกินไปดังนั้นบ่อทรายจึงควรได้รับการทำความสะอาดทุกวันเพื่อความสะอาดของเด็ก
การตกแต่งบริเวณและเนื้อที่ คับแคบ เนื่องจากโรงเรียนมีพื้นที่น้อยจึงไม่สามารถตกแต่งบริเวณและเนื้อที่ได้มากนัก แต่หน้าห้องทุกห้องจะมีบอร์ดแสดงผลงานของเด็ก หรือเอาไว้จัดแสดงภาพต่างๆ ตามวันสำคัญ เช่น วันพ่อ วันปีใหม่ วันคริสมาส
ส่วนความปลอดภัยภายนอกห้องเรียน ความปลอดภัยบริเวณหน้าห้องเรียนเป็นพื้นปูน บริเวณทางเดินแคบ ส่วนบริเวณสนามกว้างมีที่พอที่จะให้เด็กทำกิจกรรมตั้งแต่ประถมและอนุบาลจะใช้พื้นที่เดียวกันในการทำกิจกรรม และควรมีต้นไม้ให้เพื่อให้ร่มเงา เครื่องเล่นแต่ละชนิดก็เริ่มชำรุดควรที่จะได้รับการปรับปรุง บางครั้งตรงสนจามที่เด็กเล่นก็จะมีรถมาจอด ซึ่งก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กได้








บรรณานุกรม

เบญจา แสงมะลิ. (2531). การจัดห้องเรียนและสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัย. ในเอกสาร
การสอนชุดวิชาฝึกอบรมครูและผู้เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย หน่วยที่ 5 .
นนทบุรี. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
บุญเยี่ยม จิตรดอน และ ราศี ทองสวัสดิ์. ( 2532). การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมประสบการณ์
ชีวิตแก่เด็กปฐมวัย. ในเอกสารการสอนชุดวิชาการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตระดับ
บุญเสริม พูลสงวน. (250). ความรู้พื้นฐานทางสิ่งแวดล้อม. ในเอกสารการสอนชุดวิชาวิทยาการ
สิ่งแวดล้อมสำหรับโรงเรียนและชุมชน หน่วยที่ 1. กรุงเทพฯ.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2546). หลักการและแนวคิดทางปฐมวัยศึกษา. หน่วยที่ 9 – 12.
เยาวภา เดชะคุปต์. (2542). การจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย. กรุงเทพฯ : เอพีกราฟฟิกส์ ดีไซน์
ปฐมวัยศึกษา หน่วยที่ 12. นนทบุรี. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.